โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการวิศวกรสังคม
ปีงบประมาณ
2568
วัตถุประสงค์โครงการ
ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทย คือ “ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีเป้าหมายการพัฒนาประเทศ คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่องสังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน” และได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ที่มีเป้าหมายการพัฒนาและยกระดับคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดี เก่ง และมีคุณภาพ โดยจะต้องมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้านและมีสุขภาวะ ที่ดี มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น มัธยัสถ์ อดออม โอบอ้อมอารี มีวินัย รักษาศีลธรรมและ เป็นพลเมืองดีของชาติ มีหลักคิดที่ถูกต้อง มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ มีทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษและ ภาษาที่ ๒ และอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น มีนิสัยรักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สู่การเป็นคนไทยที่มีทักษะสูง เป็นนวัตกร นักคิด ผู้ประกอบการ เกษตรกรยุคใหม่และอื่น ๆ โดยมีสัมมาชีพตามความถนัดของตน จากวิสัยทัศน์และแนวทางตามยุทธศาสตร์ชาติ สถาบันอุดมศึกษาจึงเป็นหัวใจสำคัญ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติดังที่กำหนดไว้ในแผนอุดมศึกษาระยะยาว ๒๐ ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐ โดยการดำเนินงานผ่านกระบวนการการจัดการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและการสร้าง องค์ความรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคสังคม ชุมชน และท้องถิ่น
มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐตั้งอยู่ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 กำหนดให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ในส่วนของการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้นพัฒนาและเสริมสร้างให้บัณฑิต มีคุณลักษณะของคนไทย 4 ประการ ได้แก่ 1) มีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง 3) มีงานทำ-มีอาชีพ และ 4) เป็นพลเมืองดีมีระเบียบวินัย ตามพระราโชบายของพระบาทเสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกทั้งมุ่งพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้นได้กำหนดกระบวนการ พัฒนานักศึกษาเพื่อการเป็นบัณฑิตที่มีคุณลักษณะและทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่ตอบสนองต่อการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งใช้ชื่อว่า “วิศวกรสังคม” โดยมีคุณลักษณะและทักษะสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1) นักคิด : ทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงเหตุ-ผล (Cause-Effect) เห็นปัญหาเป็นเรื่องท้าทาย 2) นักสื่อสาร : ทักษะการสื่อสารองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหา 3) นักประสานงาน : ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยปราศจากข้อขัดแย้ง สามารถระดมทรัพยากร สรรพกำลังในท้องถิ่นเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาได้ และ 4) นักสร้างนวัตกรรมชุมชน : ทักษะการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาบนฐานข้อมูลชุมชน
จากเหตุผลความจำเป็นข้างต้น มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยกองพัฒนานักศึกษา สำนักงานอธิการบดี จึงได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนและขยายผลวิศวกรสังคม เพื่อให้นักศึกษามีทักษะในการเป็นวิศวกรสังคม 4 ประการ คือ นักคิด นักสื่อสาร นักประสานงาน และนวัตกร สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการปฏิบัติงานจริง แก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนในมิติต่าง ๆ เช่น ด้านความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาคุณภาพชีวิต โดยการสร้างหรือนำองค์ความรู้ที่หลากหลายในมหาวิทยาลัยมาบูรณาการในการแก้ปัญหา อีกทั้งเพื่อนำองค์ความรู้หรือนวัตกรรมที่มีในมหาวิทยาลัยราชภัฏไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองและจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน จึงกำหนดจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการวิศวกรสังคม ขึ้น
สรุปผลโครงการ
1 เชิงปริมาณ : นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จำนวน 5,000 คน เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80
2 เชิงคุณภาพ : นักศึกษามีทักษะวิศวกรสังคม ได้แก่ นักคิด นักสื่อสาร นักประสานงาน และนักสร้างนวัตกรรมชุมชน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
3 เชิงเวลา สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด
4 เชิงต้นทุนต่อหน่วยกิจกรรม 2,241,000 บาท
5 ต้นทุนต่อหน่วยผลผลิต 2,241,000 /5,000 = 448.20 บาท/คน